วัฒนธรรมประเพณีของชาวจังหวัดนครสวรรค์ เป็นมรดกเก่าแก่ที่สืบทอดมาเป็นเวลานาน มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีปรากฏชัดเจน วิถีชีวิตของชาวจังหวัดนครสวรรค์ ได้มีวิวัฒนาการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และเนื่องจากประชากรของชาวจังหวัดนครสวรรค์มีหลายเชื้อชาติประเพณีต่าง ๆ ที่สืบทอดจึงมีแบบอย่างตามเชื้อชาตินั้น ๆ และนำมาผสมกลมกลืนกันเป็นประเพณีและวัฒนธรรมของจังหวัดนครสวรรค์ที่น่าสนใจมีดังนี้ 1) ประเพณีแห่งเจ้าพ่อ เจ้าแม่ เป็นประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเทศกาลตรุษจีน เพื่อความเป็นศิริมงคล การแห่เจ้านี้เริ่มทำครั้งแรกในปี พ.ศ.2475 และได้ปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน พิธีแห่จะตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 1 ของชาวจีน โดยแห่กลางคืน (ชิวชา) และกลางวัน (ชิวสี่) ในขบวนแห่ประกอบไปด้วย ขบวนเชิดมังกรทอง ขบวนเชิดสิงห์โต ขบวนเอ็งกอ นอกจากนี้มีขบวนรถนางฟ้า เจ้าแม่กวนอิม และขบวนดนตรีจีน ฯลฯ เป็นต้น 2) ประเพณีการแข่งเรือ ประเพณีแข่งเรือของชาวจังหวัดนครสวรรค์ จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเทศกาลออกพรรษา โดยวัดที่ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะจัดรวมกับงานประจำปีของวัด เช่น งานปิดทองไหว้พระของวัดเขาหรือวัดจอมคีรีนาคพรต งานประจำปีของ วัดเกาะหงส์ เป็นต้น ในงานจะมีการนำเรือขนาดกลาง หรือเรือขนาดเล็กจากสถานที่ต่างๆ มาทำการแข่งขันกัน มีเสียงเชียร์อย่างสนุกสนาน ปัจจุบันได้จัดประเพณีแข่งเรือของชาวจังหวัดนครสวรรค์ ที่หน้าศาลากลางจังหวัด มีการแข่งขันชิงรางวัลถ้วยพระราชทานของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจะนำสิ่งของต่าง ๆ ทั้งอาหาร และผลไม้มาวางขายมากมาย การแข่งขันเรือจะจัดขึ้น 2 วัน 3) ประเพณีสงกรานต์ ของชาวจังหวัดนครสวรรค์ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในแต่ละท้องถิ่น โดยจะมีการตักบาตรข้าวสาร และอาหารแห้งในวัด และสถานที่ราชการ มีการสงฆ์น้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ สาดน้ำเ ล่น แต่ที่น่าสนใจได้แก่ ประเพณีสงกรานต์ของชาวบ้านเขาทอง ต.เขาทอง อ.พยุหะคีรี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดนครสวรรค์ เป็นระยะทางประมาณ 19 กม. ชาวบ้านเขาทองจะทำบุญในตอนเช้าพอบ่ายก็จะไปรวมกันที่ลานวัด มีการละเล่นในประเพณีตรุษสงกรานต์ ได้แก่ การละเล่นจับข้อมือสาวนางสุ่ม นางสาก นางควาย และการร้องรำทำเพลง ได้แพร่หลายความนิยมมาตั้งแต่ พ.ศ. 2483 ได้แก่ การละเล่นรำโทนหรือรำวง 4) ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีสำคัญของคนไทยประเพณีหนึ่ง จัดขึ้นในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 จังหวัดนครสวรรค์ ได้จัดงานนี้เป็นประจำทุกปีและที่น่าสนใจ คือ การลอยกระทงสายของหมู่บ้านหน้าผา เขตเทศบาลนครนครสวรรค์ ซึ่งเริ่มจัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 เดิมเรียก การลอยกะลา ต่อมาเปลี่ยนเป็นการลอยกระทง จุดประสงค์ของการจัด เพื่อสร้างความสมัครสมานสามัคคีของชาวบ้าน โดยแรกเริ่มได้ให้ชาวบ้านออกทุนทรัพย์คนละเล็กละน้อยจัดทำกระทง โดยใช้กะลากับต้นมะพร้าว นำมาทำความสะอาดแล้วติดกระดาษสี ภายในบรรจุดอกไม้ ธูป เทียน ปัจจุบันได้จัดซื้อกะลาจากที่ต่าง ๆ เป็นจำนวนนับหมื่นมาทำ ซึ่งชาวบ้านหน้าผาจะช่วยกันทำกระทงนี้เป็นเวลา 1 เดือน คือ ในเดือนตุลาคม พอถึงวันงาน คือ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ชาวบ้านจะประดิษฐ์ต้นไม้ด้วยโคมไฟธรรมชาติที่ทำจากกะลา ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ในบริเวณงานตั้งแต่บริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่หน้าผาไปจนถึงเหนือโรงเรียนลาซาลโชติรวี จะมีกระทงกะลาวางเป็นแถว เพื่อให้ประชาชนนำไปลอยในแม่น้ำ โดยมีสะพานทอดยาวไปกลางแม่น้ำ เวลา 19.00 น. จะนำกระทงลงเรือแล้วไปทอดสมอเหนือโรงเรียนลาซาลโชติรวีแล้ว จึงปล่อยกระทงที่เรียกว่า กระทงนำ โดยผู้ใหญ่ของชาวบ้าน เวลา 20.00 น. จากนั้นประชาชนจะช่วยกันปล่อยกระทงลงน้ำลอยเป็นสายไปตามลำน้ำสวยงามมาก |